ดีท็อก ล้างสารพิษ (Detoxification)

ดีท็อก ล้างสารพิษ (Detoxification)


             ทุกวันนี้เราอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษและมีความเครียดสูง ปัญหาหลักอย่างหนึ่งเกิดจากสารพิษที่ปนเปื้อนในอาหารในกลุ่มยาฆ่าแมลง และฮอร์โมนที่ใช้เร่งการเจริญเติบโตของทั้งพืชและสัตว์ รวมทั้งจากยาเคมีที่เรารับประทานเวลาป่วย ทำให้ร่างกายรับสารพิษมากเกินควร แล้วเราจะป้องกันและกำจัดสารพิษที่เข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร?
           
             ปัจจุบันมีการพูดกันมากเรื่องการกำจัดสารพิษหรือดีท็อก ซึ่งมาจากศัพท์ภาษาอังกฤษคือ detoxification และการทำความสะอาดภายในร่างกาย แต่หลายคนก็ไม่เข้าใจว่าที่แท้จริงเป็นอย่างไรกันแน่

การกำจัดสารพิษของร่างกาย

            ร่างกายที่ปกติจะไม่มีการสะสมและดูดซับสารพิษดังเช่นฟองน้ำ แต่มีกลไกของร่างกายที่จะต่อต้านและกำจัดสารพิษแม้เวลาที่เราพักผ่อนนอนหลับก็ตาม โดยปกติยิ่งร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงและอ่อนวัยเท่าไรกลไกนี้จะมีประสิทธิภาพมากเท่านั้น ในทางกลับกันยิ่งแก่ตัวและสุขภาพไม่ดี กระบวนการนี้ก็จะเสื่อมถอย ในปัจจุบันจะเห็นว่ามีการประชาสัมพันธ์อยู่ตลอดเวลาให้เห็นพิษภัยของสารพิษที่มากับอาหารและอากาศเป็นประจำ กระทรวงสาธารณสุขเองถึงได้รณรงค์เรื่องอาหารปลอดภัยหรือ Food Safety ดังที่เห็นอยู่ เป็นเพราะตระหนักถึงพิษภัยต่อสุขภาพของประชาชน เป็นที่ทราบกันแล้วว่ากระบวนการกำจัดสารพิษของร่างกายเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและเกี่ยวกับหลายระบบ เช่น ระบบภูมิต้านทาน (โดยเฉพาะเม็ดเลือดขาว) ปอด ไต ช่องท้อง ตับและผิวหนัง

             วัตถุดิบหรืออาหารที่รับประทานเข้าไปคือ ไขมัน โปรตีนและน้ำตาล จะถูกเผาผลาญเพื่อสร้างพลังงานให้แก่ร่างกายและหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ กระบวนการเผาผลาญในร่างกายจะก่อให้เกิดของเสียขึ้นเช่นเดียวกับบุหรี่ที่มีขี้บุหรี่เกิดขึ้น ปัญหาคือของเสียที่เกิดขึ้นในร่างกายส่วนหนึ่งเป็นพิษต่อร่างกายถ้าไม่รีบกำจัดออกไป

การอดอาหารเป็นวิธีการดีท็อกที่มีประสิทธิภาพ
              การอดอาหาร (fast) เปรียบเสมือนการจำกัดปริมาณสารอาหารที่เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในการลดแคลอรีเข้าสู่ร่างกาย โดยมีหลายวิธีที่จะอดอาหารเช่นการดื่มน้ำผลไม้และน้ำ การรับประทานแต่ผลไม้ เป็นต้น เมื่ออดอาหารโดยวิธีเช่นนี้สิ่งที่จะเกิดขึ้นและเห็นผลชัดเจนคือ น้ำหนักลดในช่วง 2-3 วันแรก บางคนอาจลดน้ำหนักลงได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

              การอดอาหารเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย ก่อนที่อดอาหารจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์หรือผู้มีความรู้เพื่อไม่ให้กระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวและถ้าจำเป็นต้องอดอาหารก็ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์จะดีที่สุด

ข้อห้ามสำหรับการอดอาหาร  ห้ามอดอาหาร ถ้ามีโรคดังต่อไปนี้
  • โรคปอด (active pulmonary disease)
  • มีแผลในกระเพาะอาหาร (bleeding ulcers)
  • โรคเลือด
  • มะเร็ง (cancer)
  • โรคทางสมอง
  • เบาหวาน (ชนิดพึ่งอินสุลิน)
  • เกาต์ (gout)
  • โรคไต
  • โรคหัวใจ (กล้ามเนื้อหัวใจตาย)
  • เนื้องอก (tumours)
ขั้นตอนและโปรแกรมการอดอาหาร

            ในโปรแกรมอดอาหาร จะมีขั้นตอนก่อนและหลังอดอาหารแล้ว บางทีอาจมีการใช้ยาสมุนไพรเสริมในระหว่างการอดอาหารก็ได้ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ถ้ามีการใช้ยาสมุนไพรอาจเสริมเข้าไปในช่วงการดื่มน้ำผลไม้ (ที่อาจเจือจางด้วยน้ำกลั่น) ก็ได้ ให้หลีกเลี่ยงการใช้น้ำกลั่นและสมุนไพรสองอย่างเท่านั้นในระหว่างการอดอาหารเพราะจะเกิดอันตรายได้

กระบวนการก่อนอดอาหาร

              กระบวนการก่อนอดอาหาร ควรเริ่มด้วยการดื่มน้ำผลไม้และน้ำ เป็นหลัก ดังนี้

วันที่ 1 : แทนอาหาร 1 มื้อ ด้วย ผลไม้

วันที่ 2 : แทนอาหาร 2 มื้อ ด้วย ผลไม้

วันที่ 3 : แทนอาหาร 3 มื้อ ด้วย ผลไม้

วันที่ 4 :
รับประทานอาหาร 2 มื้อ และเป็นผลไม้ทั้งหมด

วันที่ 5 : รับประทานอาหาร 1 มื้อ และเป็นผลไม้ทั้งหมด

เราสามารถดื่มน้ำกลั่นหรือน้ำผลไม้ได้เท่าที่ต้องการ

ขั้นตอนของการดีท็อก

              การดีท็อกด้วยการอดอาหารนั้น นอกจากข้อปฏิบัติในช่วงการอดอาหารแล้ว ยังมีอีก 2 ขั้นตอนที่ต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษนอกเหนือจากช่วงการอดอาหาร คือช่วงก่อนการอดอาหารและหลังอดอาหาร เป็นที่ทราบว่าการอดอาหารที่ดีที่สุด คือการรับประทานพวกพืชผักสมุนไพรและควรจะปฏิบัติตลอดช่วงโปรแกรมการอดอาหาร ในช่วงการอดอาหารอาจจะดื่มน้ำผลไม้ (โดยการเจือจางเท่าตัวด้วยน้ำกลั่น) การรับประทานพืชผักสมุนไพร และที่สำคัญคืออย่าดื่มแต่น้ำกลั่นอย่างเดียวแทนน้ำผลไม้

การดีท็อกที่ดีที่สุดด้วยพืชผักสมุนไพร

             1. เปลือกของเมล็ดแมงลักเนื่องจากเป็นไยอาหารและเป็นเมือกเมื่อถูกน้ำจะช่วยทำความสะอาดลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ และควรจะให้แน่ใจว่ารับประทานไวตามินซีอย่างพอเพียง (5,000-6,000 มิลลิกรัม/วัน) โดยละลายในน้ำหรือมีการใช้ยาสวนทวารเพื่อเป็นการเปิดช่องท้อง (ระบบขับถ่าย)

             2. ควรรับประทาน milk thistle (Silybum marianum) หรือสูตรอาหารที่ช่วยละลายไขมันร่วมกับไวตามีซีเพื่อช่วยให้การทำงานของตับในการกำจัดสารพิษออกจากเลือดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

              3. ใยอาหารที่สามารถก่อเมือก เช่น เปลือกเมล็ดแมงลัก เพ็คติน หรือรำข้าว จะช่วยป้องกันการดูดซึมกลับของสารพิษในทางเดินลำไส้เล็กได้

              4. รากของ goldenseal (Hydrastis canadensis) หรือสมุนไพรบางชนิดจะช่วยบำรุงระบบต่อมน้ำเหลืองในระหว่างการดีท็อก

การอดอาหารด้วยการดื่ม

              การอดอาหารด้วยการดื่มน้ำ น้ำผลไม้ หรือรับประทานผลไม้ โดยเริ่มจากรับประทานอาหารเย็นในปริมาณไม่มาก เช่น สลัด ก่อนวันเริ่มอดอาหาร ถ้าใช้น้ำผลไม้ก็ควรเป็นน้ำแอปเปิ้ล องุ่น พีช หรือมะละกอ โดยการเจือจางเท่าตัวด้วยน้ำบริสุทธิ์ (เช่นน้ำกลั่น) และจิบช้าๆ

การอดอาหารด้วยการดื่มน้ำผลไม้

             ให้ดื่มน้ำผลไม้ที่เจือจางน้ำเท่าตัวตามที่ต้องการในช่วง 3-5 วันของการอดอาหาร

การอดอาหารด้วยการดื่มน้ำ

             ให้ดื่มแต่น้ำกลั่นตลอดช่วงที่อดอาหาร

การอดอาหารด้วยอาหารเหลวเสริมโปแตสเซียม

              อาหารเหลวเสริมโปแตสเซียม สามารถใช้ทดแทนน้ำในการอดอาหารได้ สำหรับวิธีการเตรียมอาหารเหลวเสริมโปแตสเซียมทำได้ โดยการต้มน้ำประมาณครึ่งลิตรให้เดือด แล้วเติมส่วนผสมของผักที่หั่นแล้ว 4 ถ้วย (ประมาณ 1 ลิตร) และหรี่ไฟอ่อนทันทีเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง หลังจากนั้นให้ปิดไฟและตั้งทิ้งไว้ให้ตกตะกอน กรองและทิ้งกาก เอาน้ำผักที่ได้เก็บในตู้เย็นจนกว่าจะนำมารับประทาน

การปฏิบัติหลังการอดอาหาร

              ให้ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ภายหลังการอดอาหาร คือ

วันที่ 1 : ผสมน้ำ 2 ลิตรกับน้ำผลไม้ เช่น ส้มหรืออปริค็อต ปริมาณ 1 ลิตร ให้จิบครั้งละ 2 ช้อนชา
(10 มิลลิลิตร) ทุก 5 หรือ 10 นาที และให้แน่ใจว่ามีปริมาณมากพอจนถึงก่อนเข้านอน

วันที่ 2 : ผสมน้ำ 1 ลิตรกับน้ำผลไม้ 1 ลิตร และดื่มครึ่งถ้วย (118 มิลลิลิตร) ทุกๆ 2 ชั่วโมง และดื่มน้ำได้เท่าที่ต้องการ

วันที่ 3 : ดื่มน้ำผลไม้ (ส้มหรืออปริค็อต) ครึ่งถ้วย ทุกๆ 2 ชั่วโมง และในระหว่างนี้สามารถดื่มน้ำ ได้ 1 ลิตร และให้หั่นแอปเปิ้ลเป็นชิ้นเล็กๆผสมโยเกิร์ต 2 ถ้วย แล้วแบ่งเป็น 5 ส่วน ให้รับประทาน 1 ส่วน ทุกๆ 3 ชั่วโมง

วันที่ 4 : รับประทานผลไม้ 1 มื้อ

วันที่ 5 : รับประทานผลไม้ 2 มื้อ

วันที่ 6 : รับประทานผลไม้ 3 มื้อ

วันที่ 7 : รับประทานอาหารตามปกติ 1 มื้อ

วันที่ 8 : รับประทานอาหารตามปกติ 2 มื้อ
              ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมภายหลังอดอาหารควรรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ผลไม้และสลัด โดยกะให้มีสัดส่วนในปริมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของอาหาร

โปรแกรมดีท็อก 18 วัน

             ข้อปฏิบัติในการดีท็อกประกอบด้วย 3 ช่วง คือ ช่วงก่อนอดอาหาร ช่วงอดอาหาร และช่วงหลังอดอาหาร ต่อไปนี้จะเป็นตัวอย่างโปรแกรมการดีท็อก 18 วัน สำหรับวิธีการเตรียมอาหารและน้ำผลไม้ ขอให้ย้อนกลับไปดูในบทความตอนที่แล้ว

วันที่ 1-5 : เริ่มจากเข้าโปรแกรมช่วงก่อนอดอาหารดังได้กล่าวมาแล้ว เป็นเวลา 5 วัน ด้วยการใช้ผลไม้เป็นอาหารหลัก

วันที่ 6-8 : เข้าโปรแกรมช่วงอดอาหารโดยการใช้ น้ำผลไม้ อาหารเหลวเสริมโปแตสเซียม หรือใช้น้ำกลั่น

วันที่ 9-13 : เข้าโปรแกรมการปฏิบัติช่วงหลังอดอาหาร วันที่ 1-5 ดังที่ได้กล่าวมาในบทความตอนที่แล้ว

วันที่ 14-16 : รับประทานอาหารที่ไม่ได้ปรุงและเสริมอาหารตามที่แนะนำ

วันที่ 17 : รับประทานอาหารมื้อหลักที่เพิ่มชนิดของอาหารให้มากขึ้นและเพิ่มโปรตีนมากขึ้น เคี้ยวแต่ละคำอย่างน้อย 50 ครั้ง

วันที่ 18 : เพิ่มโปรตีนในอาหารมื้อหลักให้มากขึ้นอีก แล้วกลับสู่อาหารมื้อปกติต่อไป


รายการอาหารและวิธีการเตรียมหลังอดอาหาร

             ภายหลังจากอดอาหารด้วยการดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำแล้ว ให้รับประทานอาหารเบาๆดังนี้รายการอาหาร ให้หลีกเลี่ยงการผสมอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนเข้มข้น เช่น ห้ามผสมมันฝรั่งกับเนย หรือกล้วยกับไข่ สำหรับของหวานอาจรับประทานนมเปรี้ยวชนิดไม่หวานหรืออาจเป็นแอปเปิ้ลก็ได้
            ควรดื่มของเหลว 4 แก้วต่อวัน ของเหลวอาจเป็นน้ำดื่มหรือน้ำแร่ น้ำผลไม้เจือจางด้วยน้ำ หรือชาสมุนไพร

วิธีการเตรียม

             เมื่อสิ้นสุดโปรแกรมอดอาหารแล้วเราจะออกจากโปรแกรม เราจะเตรียมผลไม้และสลัดเก็บไว้ในตู้เย็น เมื่อจะรับประทานผักก็ให้นำมานึ่งเป็นเวลา 3-4 นาที ถ้าจะผัดก็เพียงแต่เติมน้ำมันพืชนิดหน่อยและรวนด้วยทัพพีไม้เป็นเวลา 2-3 นาที ก็พอ

การเตรียมน้ำสลัด

             น้ำสลัดอาจใช้น้ำมันมะกอกและน้ำมะนาวราดบนผักสด หรือผักผัด หรืออาจเติมนมเปรี้ยวผสมกระเทียมบดนิดหน่อย อาจใส่กระเทียมซอยบางๆก็ได้ และอาจใส่ใบสะระแหน่เพื่อให้มีรสชาติและกลิ่นที่ดี

ตัวอย่างรายการอาหาร

อาหารเช้า

1. รับประทานผลไม้ 2-3 ชิ้น เช่น แอปเปิล องุ่น มะละกอ กล้วย กีวี่

2. รับประทานเมล็ดดอกทานตะวันหรือฟักทอง 60 กรัม

3. ดื่มชาสมุนไพรไม่ใส่น้ำตาล หรือน้ำมะนาวและน้ำอุ่นที่เติมน้ำผึ้งครึ่งช้อนชา

อาหารกลางวันและอาหารเย็น

1. ทำสลัดที่ประกอบด้วยผักอย่างน้อย 4 ชนิด และผักอย่างน้อย 1 ชนิดเป็นผักสีส้มหรือแดง (เช่นแครอท มะเขือเทศ พริกแดง)

2. ถ้าไม่สามารถรับประทานผักสดได้ก็ใช้วิธีนึ่งหรือผัดก็ได้ หรือใช้สลับกับสลัดผักสดก็ได้

              สามารถเพิ่มอาหารต่อไปนี้ได้ คือ มันฝรั่งย่าง (ราดด้วยน้ำมันมะกอก) ข้าวกล้องต้ม 1 ถ้วย กล้วย 1-2 ใบ หรือสลับกับอาหารที่เพิ่มเข้าไปอย่างอื่นคือ อาโวคาโด เนย 60 กรัม ไข่ต้ม เต้าหู้

อาหารปกติ
              เมื่อสิ้นสุดโปรแกรมการดีท็อกแล้ว ให้เพิ่มชนิดอาหารให้มีมากขึ้นและให้มีโปรตีนมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นตัวเชื่อมเข้าสู่การรับประทานอาหารปกติ ข้อควรจำอย่างหนึ่งคือ ให้เคี้ยวละเอียดและช้าๆ จะได้คุณค่าของอาหารสูงสุด การเคี้ยวให้ละเอียดยังเป็นกระตุ้นความรู้สึกว่าได้รับประทานอย่างเพียงพอ ในการเข้าสู่โปรแกรมดีท็อกควรจะทำให้ถูกต้องตามขั้นตอน เพราะ ถ้าทำไม่ถูกต้องแล้วอาจจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี

             จะเห็นได้ว่าโปรแกรมการดีท็อกนั้นมีขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติตลอด 18 วัน ซึ่งคงต้องใช้เวลาและการปฏิบัติที่เหมาะสม ซึ่งบางท่านอาจคิดว่ายุ่งยากและไม่สะดวกที่จะทำตาม ดังนั้นอีกทางเลือกหนึ่งคือหันไปป้องกันสารพิษเข้าสู่ร่างกายโดยการควบคุมและเลือกการรับประทานให้เหมาะกับตัวเองจะได้รักษาสุขภาพให้แข็งแร็งสมบูรณ์ตลอดไป

ที่มา :
รศ.ดร. สุรพจน์ วงศ์ใหญ่

คณบดีคณะการแพทย์แผนตะวันออก
มหาวิทยาลัยรังสิต
http://www.rsu.ac.th/oriental_med/article8.html

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

 
 
 

สารบัญเว็บไซต์แนะนำ

  • เว็บไซต์แนะนำ
  • ชมคลิปน่าสนใจ |

    ร่วมเป็นสมาชิกสุขภาพดีกับเราสิ่คะ